ภาษาไทย Dansk                                                                                                            คณะกรรมการ Link

หน้าหลัก
ประวัติของสมาคม
ห้องสมุด
ข่าวสารจากวัดไทยในเดนมาร์ก
รูปภาพ
สมัครเป็นสมาชิก
ข่าวจากสถานเอกอัครราชทูต
Valutakurs
Vedtægter
Thai Festival


Click for Bangkok, Thailand Forecast

 

 

 

 

 

นิทรรศการรำลึกภัยพิบัติสึนามิ
สถานเอกอัครราชทูต
   กรุงโคเปนเฮเกน (เมษายน 2007)

         ผ่านมา 2 ปีแล้วที่คลื่นยักษ์สึนามิ พัดมาถาโถมทำลายชีวิตมนุษย์ บ้านเรือนและพัดพาเอาทรัพย์สินหายวืบไปกับทะเลในชั่วพริบตา ใครต่อใครหลายคนอาจลืมเลือนนาทีร้ายเหล่านี้ไปแล้ว ในขณะที่ใครอีกหลายคนยังคงจำนาทีนี้ได้อยู่ เป็นความทรงจำติดตัวที่ชวนให้อยากห่างหายจากทะเลไปนานเท่านาน เพราะคลื่นได้ซัดพาชีวิตคนที่รักหายไปด้วยชั่วกัลปวสาน   
      เพื่อเป็นการรำลึกถึงภัยพิบัติสึนามิ และแสดงให้ชาวเดนมาร์กรับรู้ว่า พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิได้รับการฟื้นฟูแล้ว มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน สถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ได้ร่วมมือกันจัดนิทรรศการเชิงวิชาการ ระหว่างวันที่   13-23 กุมภาพันธ์ 2550  โดยได้มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 15.30 น. ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานนิทรรศการ 250 คน ทั้งคณะทูตานุทูต จนท.กต.เดนมาร์ก ครอบครัวชาวเดนมาร์กที่เสียชีวิต สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ

จากซ้ายไปขวา
1. His Excellency Mr.Chaisiri Anamarn, Thai Ambassador. 
2. Ms.Miyoko Akashi, Minister Counsellor from the Embassy of Japan.
3. Her Excellency Ms.Perwitorini Wijono, Indonesian Ambassador.
4. His Excellency Mr.Hyo-Seung Ahn, Korean Ambassador. 

         วินาทีของพิธีเปิดเป็นช่วงที่น่าจดจำ เพราะทุกคนยืนรายล้อมเวทีสำหรับกล่าวสุนทรพจน์ โดยมีธงไทย ธงเดนมาร์กและธงอินโดนีเซียห้อยลงมาจากระเบียงชั้น 2  ความเงียบที่ก่อตัวขึ้นเป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่า ทุกคนพร้อมที่จะรับฟังคำกล่าวพิธีเปิดแล้ว
         จากนั้น นาย
Jakob Hougaard เทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกน ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานและการรำลึกถึงภัยพิบัติสึนามิ ศาสตราจารย์ดร.Kirstin Refsing คณบดีคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการฯ ของมหาวิทยาลัยฯ และกล่าวขอบคุณสถานเอกอัครราชทูตทั้งสองแห่งที่ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และดร.Yusny Sunby จากสถาบันอิสลามศึกษาของอินโดนีเซียซึ่งตั้งอยู่ที่    บันดาห์อาเจะห์ เป็น Keynote speaker ซึ่งได้กล่าวถึงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในอินโดนีเซีย และความรุนแรงของภัยพิบัติสึนามิโดยรวม
         เสียงปรบมือที่ดังเกรียวกราวเป็นสัญญาณที่บอกว่า สุนทรพจน์จบถ้วนกระบวนความลง สิ่งที่ตามมาหลังการกล่าวสุนทรพจน์ เป็นการอ่านกลอนภาษาไทย และภาษาอินโดนีเซีย โดยมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ความหมายของทุกคำเป็นที่เข้าใจของแขกรับเชิญทุก ๆ คน และเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสุนทรีย์ของคำกลอนภาษาไทย จึงได้นำคำกลอน
พลังแห่ง     ความรัก ลงมาให้อ่านด้วย  

                            ด้วยพลัง อันยิ่งใหญ่ ในความรัก
                            ได้ประจักษ์ พาพานพบ สบความหวัง
                             อันเลือนหาย จากชีวิต จิตภวังค์
                             แม้หนทาง ยังไม่เห็น จะเป็นไป
                             จงหลับเถิด หลับซะ นะลูกรัก
                             ลูกจงพัก ในละหาน ธารน้ำใส
                             แม่มารับ ลูกแล้ว แก้วดวงใจ
                             ขอลูกไซร้ หลับสนิท นิจนิรันดร์

 
แปลและร้อยกรองโดยสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์
                 ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม

 Power of Love

                 The Power of love is capable of

                  finding hope where hope no longer exists

                  and a way where the way is impossible.

                  Sleep tight my darling daughter

                  I have come to take you home.

                                                Jean Dogan

          ที่มาของกลอนรู้แล้วสะเทือนใจพอควร คือ ในช่วงที่เกิดสึนามิ ชาวอังกฤษได้ออกตามหาลูกสาวที่ถูกคลื่นสึนามิพัดหายไป ตามอยู่หลายวันแต่ไม่พบร่องรอย จึงเขียนกลอนทิ้งไว้ที่ริมหาด เผอิญคุณสร้อยทิพย์ฯ เดินทางไปตรวจราชการแถวนั้น จึงนำคำกลอนภาษาอังกฤษ มาแปลเป็นภาษาไทย มีความซาบซึ้งใจพอๆ กับต้นฉบับภาษาอังกฤษ สะท้อนให้เห็นถึงความพลัดพรากของคนอันเป็นที่รักได้อย่างดี
         คำถามว่านิทรรศการนี้มีอะไรให้ชม  นิทรรศการนี้เป็นการจัดแสดงเอกสาร และโปสเตอร์ต่าง ๆ เช่น รู้ทันสึนามิ ให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมงานว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดคลื่นสึนามิ  การฟื้นฟูแนวปะการังของจังหวัดภูเก็ต ว่ามีสภาพดีขึ้นอย่างไร บทความจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทย (ฉบับประจำปี 2548
หลังเกิดสึนามิเพียง 1 ปี) เกี่ยวกับภัยพิบัติสึนามิ การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวของไทย ความเสียหายจากการที่สัตว์น้ำมีปริมาณลดลงจากเดิม และยังมีภาพเกี่ยวกับโครงการบำบัดน้ำเสีย ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยรัฐบาลเดนมาร์กได้ให้ความร่วมมือในการบำบัดน้ำเสีย เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม
        นอกจากนี้ ถัดไปจากแท่นแสดงภาพโปสเตอร์และภาพถ่าย เป็นการฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและความรุนแรงของภัยพิบัติสึนามิ ซึ่งเห็นภาพขณะที่คลื่นม้วนพัดเข้ามากระทบฝั่ง และภาพแสดงการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและความรุนแรงของภัยพิบัติสึนามิ 
       สำหรับการแสดงภาพของอินโดนีเซีย ก็เป็นการแสดงภาพถ่ายความเสียหายของพิ้นที่ต่าง ๆ ในบันดาห์อาเจะห์ การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายบนเกาะไนแอส ภาพวาดของเด็ก ๆ เกี่ยวกับสึนามิ รวมไปถึง ภาพวาดด้วยสีน้ำมันโดยศิลปินชาวอินโดนีเซียด้วย
        การแสดงภาพดูเผิน ๆ เหมือนจะสะท้อนให้เห็นถึงภัยของสึนามิ สอนว่าควรตระหนักถึงความรุนแรงของภัยธรรมชาติ  และในขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยได้ฟื้นฟูพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติสึนามิแล้ว หลายคนที่มาชมนิทรรศการบอกว่า  จะไ
ปเที่ยวในไทยอีก เพราะที่นั่น สวยงาม ผู้คนเป็นมิตร และมีอากาศอบอุ่น ที่น่าปลื้มใจกว่า คงเป็นการที่ ครอบครัวชาวเดนมาร์ก ซึ่งได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวไป ให้ความสนใจนิทรรศการนี้พอสมควร เรียกได้ว่า ช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวไทยแก่นักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กได้ดีทีเดียว

        นอกจากผู้ชมนิทรรศการจะได้รับความรู้แล้ว หลังจบพิธีเปิดและมีการอ่านคำกลอนแล้ว ได้มีการเชิญแขกทั้งหมดสัมผัสกับวัฒนธรรมด้านอาหารประจำชาติของไทย อินโดนีเซียและเดนมาร์ก โดยอาหารดังกล่าวของสถานเอกอัครราชทูตไทย ได้รับความนิยมมากและหมดลงภายในเวลาอันรวดเร็ว การเลี้ยงรับรองแขกเช่นนี้เปรียบดุจการรอดพ้นจากภัยพิบัติ มาสู่ความหอมหวานของชีวิต ดังที่คนของเดนมาร์กเขาบอกว่า “from disaster to survival”

Sawasdee Thai-Dansk Forening, Parkvej 26, 5492 Vissenbjerg. e-mail: info@thai-dansk.dk

Click for Bangkok, Thailand Forecast